หน้าแรก >> บทความดีดี เกี่ยวกับ “ศาสตราจารย์ ดร.ฟิลิป ลาว”นักผลิตยาระดับโลกผู้ที่มีจิตอาสา มอบความบริสุทธิ์ใจต่อคนไทย


“ศาสตราจารย์ ดร.ฟิลิป ลาว”นักผลิตยาระดับโลกผู้ที่มีจิตอาสา มอบความบริสุทธิ์ใจต่อคนไทย

ในแต่ละสัปดาห์ผมมักจะคิดใคร่ครวญว่า “อาทิตย์นี้จะนำเสนอเรื่องใดให้เป็นทั้งอาหารสมองและเป็นประโยชน์” เนื่องจากผมไม่ต้องการเขียนอะไรก็ตามที่เป็นการยัดเยียดต่อท่านผู้อ่าน

ฉบับนี้ผมใคร่จะนำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักกับนักนวัตกรรมผลิตยาที่มีชื่อเสียงเรืองนามระดับโลก และท่านยังมีผลงานดีเด่นมากมายที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน!!!

ท่านผู้ที่ผมกล่าวอารัมภบทข้างต้นนี้ก็คือ

“ศาสตราจารย์ ดร.ฟิลิป ลาว”แห่ง “มหาวิทยาลัยเพอร์ดู” รัฐอินเดียนา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกที่มีผลงานสิทธิบัตรมากกว่า 600 ชิ้นเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในวงการแพทย์ จนเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติว่า ท่านศาสตราจารย์ ดร.ฟิลิป ลาว มีความสามารถในระดับอัจฉริยะขั้นสากลเลยทีเดียว

สำหรับชีวประวัติและผลงานด้านวิชาการของ ดร.ฟิลิป ลาว นั้น หากจะเขียนลงในบทความฉบับนี้ก็คงจะต้องบรรยายอย่างยาวเหยียดหลายสิบหน้า และท่านยังได้เล่าประวัติให้ผมได้รับฟังอย่างถ่อมตนว่า “ครั้งที่ผมกำลังเรียนในระดับมัธยมปลายคะแนนเฉลี่ยของท่านมีอยู่เพียงแค่เกรดบีบวกเท่านั้น”

แต่เนื่องจากท่านชอบและสนใจด้านวิทยาศาสตร์เป็นชีวิตจิตใจมาตั้งแต่ยังเยาว์วัยและเมื่อใดก็ตามที่ท่านได้อ่านพบเรื่องราวที่ท่านสนใจ ท่านก็มักจะนำเอาไปคิดไตร่ตรองแล้วลงมือทดลองปฏิบัติในทันที เพื่อต้องการที่จะเรียนรู้อย่างถ่องแท้จนกลายเป็นนิสัยใฝ่รู้ประจำตัวของท่านไปเสียแล้ว

ทั้งนี้ดร.ลาวยึดในหลัก “นำปัญญามาเป็นเครื่องชี้นำ” โดยท่านได้เล่าให้ผมฟังอย่างไม่โอ้อวดเลยว่า “ที่ผ่านมาก็มิได้มีเคล็ดลับอะไรเลย เพียงแต่ชอบอ่านผลงานด้านวิทยาศาสตร์เท่านั้นเอง”

สำหรับปรัชญาส่วนตัวของดร.ลาวนั้น ท่านมีความเชื่อและใช้เป็นหลักยึดเหนี่ยวมาโดยตลอดว่า “ศาสนาและวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ได้” ซึ่งท่านก็ได้นำความซื่อสัตย์ในหลักคำสอนของ “ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย” ในเรื่องที่ว่า “ความเชื่อและความศรัทธามีพลังสำคัญที่สามารถจูงใจให้คนมุ่งทำความดี”มาเป็นแรงจูงใจ

ดร.ลาว เล่าให้ผมฟังว่า ท่านจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ด้านเคมีจาก มหาวิทยาลัยบริฮัมยัง (Brigham Young หรือที่เรียกสั้นๆว่า BYU) ด้วยทุนนักกีฬาบาสเกตบอลประจำมหาวิทยาลัย และท่านยังจบแขนงเคมี ในระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ เมืองซานดิเอโก เมื่อศึกษาจบท่านได้เข้าทำงานด้านวิชาการที่ มหาวิทยาลัยเพอร์ดู จวบจนปัจจุบันนี้เป็นเวลายาวนานกว่า 35 ปี!!!

อนึ่งสิทธิบัตรส่วนใหญ่ที่ ดร.ลาวได้รับนั้น ล้วนมาจากนวัตกรรมของ “บริษัทEndocyte”แทบทั้งสิ้น เนื่องจากบริษัทแห่งนี้เป็นบริษัทด้านเภสัชกรรมที่ท่านคิดริเริ่มก่อตั้งขึ้น เมื่อปีค.ศ.1996  โดยขณะนี้มีมูลค่ากว่าสองพันล้านเหรียญสหรัฐฯ

อีกทั้งดร.ลาวยังได้ก่อตั้งบริษัทเพิ่มขึ้นอีกห้าบริษัท  เท่ากับว่านอกจากท่านจะเป็นนักวิชาการที่ประสบความสำเร็จชั้นเลิศแล้ว ท่านก็ยังเป็นธุรกิจชั้นนำของสหรัฐอเมริกาอีกด้วยเช่นกัน!!!

อย่างไรก็ตามดร.ลาว ถึงแม้ว่าจะเป็นนักธุรกิจที่ได้รับผลสำเร็จก้าวไกลแล้วก็ตาม แต่ท่านก็ไม่เคยลืมคุณธรรมและคุณสมบัติโดดเด่นประจำใจของท่านนั่นก็คือ การเป็นคนที่เคร่งครัดศาสนาและมีจิตใจเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตา

ส่วนด้านวิชาการของ ดร.ลาวนั้น ท่านมีผลงานให้เห็นเป็นที่ประจักษ์เกือบสี่ร้อยชิ้น โดยท่านมักจะเดินทางไปช่วยแบ่งปันความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมาแล้วกว่า 570 ครั้งทั่วโลก!!!

ที่ผ่านมาดร.ลาวมีวิสัยทัศน์กว้างไกล โดยท่านมีความต้องการที่จะผลิตยาใหม่ๆ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ผ่านทางเทคโนโลยี

และในต้นเดือนมิถุนายน2022นี้ ดร.ฟิลิปลาว จะเดินทางไปประเทศไทย เพื่อทำการสำรวจว่า มีพี่น้องชาวไทยเจ็บป่วยติดเชื้อมาลาเรียอยู่ที่ไหนและมากน้อยเพียงใด โดยท่านจะนำยารักษาโรคมาลาเรียที่บริษัทของท่านผลิตไปรักษาคนไข้ในปีหน้า!!!

ทั้งนี้ปลายเดือนพฤษภาคมนี้เพื่อนสนิทของดร.ลาว ได้แก่ “ศาสตราจารย์ดร.ชัด อัลเรด”แห่ง มหาวิทยาลัยเพอร์ดู ผู้ที่หลงใหลในเสน่ห์ของวัตนธรรมไทยจะเดินทางไปร่วมงานกับดร.ฟิลิป ลาวในปีนี้ และปกติแล้วดร.ชัดจะนำครอบครัวและนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยเพอร์ดูไปเที่ยวเมืองไทยทุกๆปี และท่านยังจับมือร่วมก่อตั้งโครงการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีกับมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ มานานกว่า 9 ปี

เนื่องจากมหาวิทยาลัยเพอร์ดู เป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก มีนักศึกษานานาชาติเป็นอันดับ 4 ในสหรัฐฯ และในปีการศึกษา 2021ที่ผ่านมามีนักศึกษาต่างชาติเก้าพันกว่าคน

ทั้งนี้รัฐบาลของประเทศต่างๆนิยมส่งนักศึกษาที่ได้รับทุนไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเพอร์ดู

สำหรับศิษย์เก่าที่มีความโดดเด่นของมหาวิทยาลัยเพอร์ดู ที่เป็นคนไทยก็มีจำนวนไม่น้อย อาทิเช่น

“ท่านสุวัจน์ ลิปตพัลลภ” โดยท่านเล่าว่าครั้งที่ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยเพอร์ดูนั้น ท่านเป็นนักศึกษาเพียงคนเดียวที่ไปศึกษาด้วยทุนส่วนตัวส่วนนักศึกษาชาวไทยที่เหลือล้วนแต่เป็นนักศึกษาทุนของรัฐบาลแทบทั้งสิ้น!!!

อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่นับว่าโชคดีที่มีศิษย์เก่าดีเด่นของ มหาวิทยาลัยเพอร์ดู ท่านหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อสถาบัน ท่านผู้นั้นก็คือ “ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ภญ. อรัญญา มโนสร้อย” ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสาขาเทคโนโลยีเครื่องสำอาง ที่ท่านจบการศึกษาในระดับปริญญาเอก สาขาเภสัชกรรมจากมหาวิทยาลัยเพอร์ดู เมื่อปี ค.ศ. 1981

ส่วนสามีของท่านก็คือ “ศาสตราจารย์ เกียรติคุณดร.ภก. จีรเดช มโนสร้อย” ดำรงตำแหน่งประธานหลักสูตรสาขาเทคโนโลยีเครื่องสำอาง

กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้น เนื่องจากโครงการต้องการที่จะลดการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรียในประเทศไทย ที่ศาสตราจารย์ดร.ฟิลิป ลาว หวังและตั้งใจที่จะส่งมอบให้กับพี่น้องร่วมชาติของเราณ ประเทศไทย ถือเป็นโครงการระดับประเทศ และหากมีอะไรคืบหน้าขณะที่ทีมของดร.ฟิลิปลาวสร้างผลงานออกมาอย่างไรผมจะรายงานให้ทราบนะครับ

โดย…ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย  ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่

http://live.siammedia.org/index.php/article/bankhao-banrao/88638

 

 


ผู้ประกาศข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มนช. ประกาศข่าวเมื่อ : 2 พฤษภาคม 2565
| |