หน้าแรก >> นางพยง แสนกมล เจ้าของกิจการ ฟาร์มเห็ด “ครูพยง-อนันต์” ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ พิธีประสาทปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2562 2563 2564


นางพยง แสนกมล  เจ้าของกิจการ ฟาร์มเห็ด “ครูพยง-อนันต์”

ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์  มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่

พิธีประสาทปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2562 2563 2564  

วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2565  ณ มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ 

นางพยง แสนกมล  เจ้าของสมญานามว่า “ราชินีเห็ด” (Queen Mushroom) จากสถาบันเห็ดเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน  หรือ “ปราชญ์เห็ด” ซี่งได้รับการยกย่องจากสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันอายุ 58 ปี  เธอเป็นผู้หญิงร่างเล็ก  คล่องแคล่ว พูดจาฉะฉาน ที่มักแทนตัวเองว่า “ครูยง” แม้ว่าจะจบการศึกษาเพียงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจาก โรงเรียนวชิรคพรรณ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง แต่เธอภาคภูมิใจ ยิ่งนักกับการทำหน้าที่ครูภูมิปัญญา ในฐานะ เจ้าของฟาร์มเห็ด “ครูพยง-อนันต์” ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2552 ที่รวบรวมองค์ความรู้ซึ่งได้จากการ สั่งสมจากประสบการณ์ตรง และศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างเพียรพยายาม มานะบากบั่น ไม่ย่อท้อ จนสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้แก่บุคคลทั่วไป  รวมถึงการได้รับอนุสิทธิบัตร สูตรการเพาะลี้ยงเห็ดโคนดำที่ส่งเสริมการเจริญของเชื้อ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2561  นอกจากนี้ครูพยง ยังได้อุทิศตนทำงานเพื่อรับใช้สังคม ได้แก่ ที่ปรึกษาโครงการร้อยใจรักษ์ : โครงการบริหารจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือแบบเบ็ดเสร็จ โดยใช้ศาสตร์ของพระราชาและตำราแม่ฟ้าหลวง /ที่ปรึกษางานพัฒนาและส่งเสริมการผลิตเห็ด มูลนิธิโครงการหลวง / ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงเห็ด โครงการพัฒนาบ้านห้วยส้าน จังหวัดเชียงใหม่  โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯลฯ

ครูพยง  แสนกมล เป็นอีกหนึ่งบุคคลตัวอย่างของจังหวัดอ่างทอง ที่กล่าวกับคนใกล้ชิดเสมอว่า จากเด็กบ้านนอก ลูกชาวไร่ ชาวสวน ได้รับรางวัลมากมาย แต่รางวัลที่ภาคภูมิใจที่สุดระดับนานาชาติ คือ

ลำดับที่ 1 ผู้นำการเกษตรยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ปี 2556 (Excellence in Agricultural Leadership 2013) จากสมาคมเทคโนโลยีเกษตรแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (AATSEA) และ รางวัลบริการสังคมดีเยี่ยม ปี 2557 จากสมาคมเทคโนโลยีเกษตรแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (AATSEA)  เนื่องจาก ครูพยง แสนกมล ในฐานะเกษตรกรพันธุ์แท้ ได้มีส่วนช่วยเหลือพัฒนาศักยภาพเกษตรกรแก่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องเห็ดประเภทต่างๆ ทั้งนี้ผลงานของครูพยง เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ชาวต่างชาติ ทำให้ผู้คนที่สนใจจากทั่วโลก เดินทางมาศึกษาดูงานที่ฟาร์มเห็ด จังหวัดอ่างทอง  นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากสถาบันต่าง ๆในทวีปยุโรป ให้เป็นวิทยากร และร่วมพัฒนาเห็ดป่ามูลค่าสูง เช่น  เห็ดทัฟเฟิล  โมชิร่า  ณ ประเทศฝรั่งเศส  เยอรมัน สวิสเซอร์แลนด์ เป็นต้น

ลำดับที่ 2  ได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็น ราชินีเห็ด (Queen Mushroom)  จากสถาบันเห็ด

ครูพยง แสนกมล  มีความสามารถ และความเชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงเห็ดแทบทุกชนิด โดยศึกษา ค้นคว้า วิจัย ทดลองนำเห็ดจากเขตเมืองหนาวมาเพาะเลี้ยงในเซตเมืองร้อนเช่นประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ และออกผลเร็วกว่าที่เพาะเลี้ยงในเมืองหนาว เช่น เห็ดการบูร ที่ไต้หวันไช้เวลานานถึง 4 ปี จึงออกผล แต่ครูพยง ค้นพบวิธีเลี้ยงให้ออกผลได้ในเวลาเพียง 1 ปี 4 เดือน นอกจากนี้ ยังมีการ ทดลองผสมพันธุ์เห็ดเอง เช่น เห็ดมิลด์กี้ขาว (White Milky Mushroom) ซึ่งเกิดจากการผสมเห็ด มิลค์กี้สายพันธุ์จากประเทศอินเดีย ฟิสิปปินส์ และแอฟริกา ได้เห็ดมิลค์กี้ที่ขาวอวบ ยาวใหญ่ รสชาติอร่อย ไม่ขม ให้ผลผลิตตลอดปี

ครูพยง  คิดค้นการเพาะเห็ดตับเต่าในถุง พัฒนาการเพาะเห็ตกระถินพิมานในข้าวสาลี โดยใช้เวลาเพียง 6 เดือน จากเดิมใช้เวลา 3 ปีขึ้นไปจึงจะได้ผลผลิต  รวมถึงการคิดค้นเพาะเห็ดถั่งเช่าหนอนในขวด เพาะเห็ดถ้วยยักษ์ (Giant Cup Mushroom) 1 ดอก มีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังสามารถเลี้ยงและบังคับเห็ดให้เป็นรูปหัวใจได้ด้วย ทำให้ครูพยง ได้รับเกียรติจากรัฐบาลภูฏาน ให้เป็นที่ปรึกษาด้านการเพาะเลี้ยงเห็ด  

ลำดับที่ 3 โครงการร้อยใจรักษ์ บ้านห้วยส้าน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

นางพยง แสนกมล ในฐานะบุคลากรคนหนึ่ง ของสำนักงานประสานงานโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงเห็ด โครงการพัฒนาบ้านห้วยส้าน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ เมื่อเดือนมีนาคม 2564 เล่าว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเล็งเห็นว่าควรนำการพัฒนาเข้ามา เพื่อสร้างโอกาสและทางเลือกในการดำรงชีวิตให้ประชาชนในพื้นที่ เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องพึ่งพายาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายอีกต่อไป จึงเกิดเป็น “โครงการร้อยใจรักษ์” ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 เพื่อร้อยใจทุกคนเข้ามาร่วมกันทำงาน เพื่อความผาสุก มั่นคงและยั่งยืนของชุมชนและสังคม “โครงการร้อยใจรักษ์” ดำเนินการโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ตามศาสตร์พระราชาและตำราแม่ฟ้าหลวง ด้วยการสร้างอาชีพทางเลือกที่สุจริตและหลากหลาย ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ระยะสั้น และวางรากฐานสู่รายได้ที่มั่นคงในระยะยาว เพื่อลดความเสี่ยงในการกลับไปค้ายาเสพติดของคนในชุมชน ควบคู่ไปกับกิจกรรมส่งเสริมด้านสุขภาพ ลดจำนวนผู้เสพผู้ติดยาเสพติด พัฒนาด้านการศึกษา และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน หน้าที่หลักของครูพยง คือการให้ความรู้ อบรมและเก็บข้อมูล โดยมี อาสาพัฒนา(อสพ.) กรมการพัฒนาชุมชน เป็นทีมงานคอยช่วยเหลือ. ครูพยง กล่าวว่า นายณรงค์ อภิชัย ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคสนาม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้จุดประกายความคิดและให้โอกาสแก่ครูพยง ในการคิดนอกกรอบ กล้าคิดกล้าทำนำไม้ทะเลมาพัฒนาน้ำจืดและนำไปเพาะบนดอย เพื่อให้ ต้นโกงกาง ต้นลำพู ต้นลำแพน แทงรากสวยงามและยึดตลิ่งได้เป็นอย่างดี. เมื่อรากต้นไม้ยึดลำห้วยทางน้ำไหล ไม่ให้หินพังทลาย จนในที่สุดทำให้ระบบนิเวศน์สมบูรณ์ ต้นลำพูจะมีหิ่งห้อยมาอยู่อาศัย กล่าวคือ ตอนกลางคืนจะสวยงามมาก มองเห็นแสงหิ่งห้อยระยิบระยับ ราวกับสวรรค์บนดอย ดังนั้นครูพยง แสนกมล จึงภาคภูมิใจกับบทบาทหน้าที่ซึ่งตนเองมีส่วนรับผิดชอบ ในฐานะบุคลากรของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อพระบรมวงศานุวงศ์ ทุกพระองค์ อีกทั้งภูมิใจที่ได้ร่วมสืบสานพระราชกรณียกิจของแม่ฟ้าหลวง คือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ ศาสตร์พระราชา ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

Cr 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์บงกช สุทัศน์ ณ อยุธยา

ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่

ที่ปรึกษาฝ่ายสื่อสารองค์กร


ผู้ประกาศข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มนช. ประกาศข่าวเมื่อ : 21 มกราคม 2565
| |