หน้าแรก >> บทความดีดี "เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ :จากเด็กกำพร้าก้าวสู่นักวิศวะผู้ย่ิงใหม่และสู่ทำเนียบขาว


     เนื่องจากผมใช้เวลาส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นด้วยการใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวอเมริกันนับตั้งแต่ก้าวแรกที่ผมมีคุณพ่อบุญธรรมเป็นฝรั่ง ซึ่งท่านยึดอาชีพเป็นคุณครู โดยท่านได้ปลูกฝังส่งเสริมสนับสนุนให้ผมได้เรียนสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนผมสามารถทำงานหาเลี้ยงชีพในสหรัฐอเมริกามายาวนานกว่าสี่สิบปี และด้วยความใกล้ชิดสนิทสนมคลุกคลีกับชาวอเมริกันในแทบทุกๆระดับก็ยิ่งทำให้ผมมีความรู้สึกชื่นชอบและหลงไหลในความก้าวหน้าด้านวิชาการอันดีเยี่ยมของสหรัฐฯตลอดเรื่อยมา

   การศึกษาเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีความสำคัญมากที่สุด และประเทศสหรัฐอเมริกาก็เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงไม่แปลกแต่อย่างใดที่ชาวอเมริกันทุกๆคนจะได้รับโอกาสให้มีการศึกษาเป็นอาวุธประดับกายและเท่ากับว่าเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้กับเยาวชน!!!

     ในแวดวงสังคมของชาวอเมริกันส่วนใหญ่แล้ว เล็งเห็นว่า “วิทยาศาสตร์”  ก็คือ การศึกษาในข้อเท็จจริง มีความเกี่ยวข้องในเรื่องความแม่นยำ ดังนั้น “วิศวกรรมศาสตร์” ก็คือ การนำข้อเท็จจริงมาประยุกต์ใช้ร่วมกับด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อสรรค์สร้างบางสิ่งบางอย่าง เพื่อใช้ทำงานในโลกแห่งความเป็นจริงนั่นเอง

     นักวิทยาศาสตร์ที่สามารถค้นคว้าและค้นพบสิ่งต่างๆขึ้นมาได้แต่ละชิ้นนั้น จะต้องทำงานอย่างหนักไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเป็นเวลาหลายปีก่อนที่ทำให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยก่อนที่พวกเขาจะตัดสินใจลงมือทำโปรเจ็คอะไรก็ตามที พวกเขาจะใคร่ครวญ บวก ลบ คูณ และหาร พินิจพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่า สิ่งที่ทำจะคุ้มค่าในการทุ่มเทเงินทอง เพื่อค้นคว้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์หรือไม่? เพราะขั้นตอนสุดท้ายของสิ่งที่พวกเขาคิดค้นก็คือ เทคโนโลยีที่มีความพร้อมจะให้ผู้คนนับล้านได้นำไปใช้อุปโภคหรือบริโภคนั่นเอง

     อย่างไรก็ตามแขนงวิชาทางด้าน “วิทยาศาสตร์วิศวกรรม” ถือเป็นสาขาวิชาที่มีความกว้างครอบคลุมไปหลายๆหลักทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่รวมไปถึง วิทยาศาสตร์ ชีวภาพ เคมี คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์และวิชาชีพ เพื่อรับมือต่อความท้าทายในความต้องการของโลก รวมไปถึงใช้ในการพัฒนา เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีที่สุดของสังคมโลกอีกด้วย!!!

     วิศวกรรมศาสตร์ นับเป็นเสาหลักที่จำเป็นในอุตสาหกรรมหลักทุกๆประเภทของสหรัฐฯ โดยท้องตลาดแรงงานมีความต้องการอาชีพทางด้าน “STEM”  ที่ย่อมาจาก Science, Technology, Engineering และ Math

     วิศวกรรมศาสตร์ ก็ยังมีความสำคัญเป็นอย่างสูงทั้งทางด้านสร้างความมั่นคงแข็งแกร่งของประเทศ  อีกทั้งยังเป็นการสร้างทักษะอันดีให้แก่นักศึกษาในการแก้ปัญหาทุกเรื่องทั้งชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็น ด้านความปลอดภัย ด้านสุขภาพ ด้านการแพทย์ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านผลิตอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ ด้านการสื่อสารคมนาคม ได้อย่างดีเลิศอีกด้วย

     ดังนั้นการที่สหรัฐอเมริกามีความยิ่งใหญ่เป็นมหาอำนาจ มิใช่มาจากความบังเอิญแต่อย่างใด สืบเนื่องมาจากสหรัฐฯให้ความสำคัญในการสร้างอาชีพด้านวิศวกรรมกับบรรดานักศึกษา เพื่อต้องการให้เยาวชนอเมริกันมีทักษะในการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง มีความละเอียดรอบคอบ เรียนรู้จากความผิดพลาด เข้าใจธุรกิจ ยอมรับการเปลี่ยนแปลง มีจริยธรรม ทำงานอย่างมีระบบและเห็นได้เป็นค่อนข้างเด่นชัดเลยว่า ผู้ที่ยึดอาชีพ “ วิศวกร” จำต้องเรียนรู้ในด้านความสำคัญของการทำงานร่วมกัน การสื่อสารที่ชัดเจน และจะต้องเต็มใจแบ่งปันข้อมูลด้านการแก้ไขปัญหาและจะต้องเข้าใจในความสำคัญด้านความยืดหยุ่น แต่เหนือสิ่งอื่นใดอาชีพวิศวะก็เป็นอาชีพที่ทำรายได้เป็นอย่างดีเป็นที่น่าสนใจว่า ส่วนใหญ่แล้ว คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยเอกชนของสหรัฐฯ มักจะมีความแข็งแกร่งมากกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐเช่น สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (คาลเทค) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน มหาวิทยาฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มหาวิทยาลัยคาร์เนกี (เมลลอน) มหาวิทยาลัยดุ๊ค มหาวิทยาลัยคอร์เนล มหาวิทยาลัยเยล และ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ เป็นต้น

     จากหนังสือชื่อ “Hoover:  An Extraordinary life In Extraordinary Times” เขียนโดย Kenneth Whyte มีความยาว 726 หน้าได้เขียนไว้ว่า“ประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์” ซึ่งเป็นผู้ที่มาจากครอบครัวยากจน คุณพ่อผู้นำของครอบครัวเสียชีวิตตอนที่เด็กชายฮูเวอร์อายุแค่เพียงเก้าขวบ และคุณแม่มีอาชีพที่ไม่ค่อยมั่นคง แถมเด็กชายฮูเวอร์ มีคะแนนเกรดเฉลี่ยสอบตกในแทบทุกวิชา ยกเว้นก็แต่เพียงวิชาคณิตศาสตร์เท่านั้นและในที่สุดเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ ได้ตัดสินใจเข้าไปศึกษา ณ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ด้านธรณีวิทยา จนต่อมาก็ได้กลายเป็นวิศวกรที่มีชื่อเสียงดังกระฉ่อนไปทั่วโลก!!!

และจากการหยั่งเสียงของศิษย์เก่ากว่าเจ็ดพันคนในคณะวิศวะของ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เมื่อปีค.ศ. 1968 ที่พวกเขาลงมติกันว่า“ประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ คือวิศวกรที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

     คราวนี้ผมขอวกกลับมาถึงเรื่องที่สร้างความแปลกใจว่า เพราะเหตุใด ? และทำไม?มหาวิทยาลัยเอกชนของสหรัฐฯจึงมีความแข็งแกร่งเป็นอย่างมาก แต่น่าแปลกใจที่มหาวิทยาลัยเอกชนของไทย กลับถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมากเท่าที่ควร!!!

     ผมขอยกตัวอย่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ ของ “มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่” ที่ก่อตั้งมาแล้วยี่สิบสองปีกว่าๆ ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกในภาคเหนือที่จัดตั้ง “คณะวิศวกรรมศาสตร์” ให้กับลูกหลานเยาวชนชาวไทยได้เข้าไปร่ำเรียนรู้

     ผมมีความรู้สึกประทับใจด้านมองการณ์ไกลของ “ท่านอธิการบดี ดร.ณรงค์ ชวสินธุ์” ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ โดยท่านเป็นวิศวกร หรือ เป็นนักวิทยาศาสตร์ประยุกต์ที่มีความมุ่งมั่นปรารถนาจะส่งต่อโอกาสและสร้างคลื่นเยาวชนรุ่นใหม่ๆขึ้นมาพัฒนาประเทศชาติ

     ทั้งนี้ อธิการบดีดร.ณรงค์ ชวสินธุ์  เป็นลูกศิษย์คนโปรดของ “ศาสตราจารย์ ดร.อรุณ ชัยเสรี” ผู้สร้างอาคารที่มีชื่อเสียงและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว “ตึกช้าง”ความสูง 32 ชั้น ที่ได้รับรางวัลอันดับสี่ ด้านตึกระฟ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของโลก

     ทั้งนี้ท่านอธิการบดี ดร.ณรงค์ ชวสินธุ์ พูดเป็นข้อคิดเอาไว้อย่างน่าฟังว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นต้องมีเหตุมีผลและสามารถพิสูจน์ได้ ดังนั้นถ้าใครมีพื้นฐานและชอบทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ สมควรอย่างยิ่งที่จะต่อยอดไปเป็น นักบริหาร นักการธนาคาร และอาชีพต่างๆได้เกือบทุกๆสาขาอาชีพ

     อนึ่งแม้ว่า มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ จะเป็นมหาวิทยาลัยไม่ใหญ่โตนัก แต่สถาบันการศึกษาแห่งนี้มีพันธมิตรอันดีเยี่ยมทางด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยชื่อดังชั้นนำของสหรัฐฯถึง 3สถาบัน ด้วยกัน นั่นก็คือ “มหาวิทยาลัยเพอร์ดู” รัฐอินเดียนา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษานานาชาติมากที่สุด และยังมี “มหาวิทยาลัยบริคฮัม ยัง” (Brigham Young University หรือที่เรียกย่อๆว่า BYU) ที่มีคณะวิศวกรรมศาสตร์ติดอยู่ในอันดับที่ 46 และยังมี “มหาวิทยาลัยวีเบอร์สเตท” ที่ตั้งอยู่ที่รัฐยูทาห์ มีคณะวิศวกรรมศาสตร์ติดอยู่ในอันดับที่ 75 ของสหรัฐฯ โดยทั้งสามสถาบันชั้นนำนี้ถือเป็นพันธมิตรอันดีต่อ มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่มาแล้วอย่างต่อเนื่องนับสิบๆปี

     สำหรับหลักสูตรในระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ของ มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ นั้น มีทั้ง วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมซอฟต์แวร์ เทคโนโลยียานยนต์ และยังมีระดับปริญญาโท ทางด้านเทคโนโลยีเครื่องสำอาง อีกด้วย

    กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นแน่นอนว่าเนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจอันยิ่งใหญ่ที่เรามิสามารถจะเปรียบเทียบกับเขาได้ในแทบทุกๆด้าน แต่อย่างไรก็ตามผมและพี่น้องชาวไทยทุกๆคนตระหนักดีว่า ประเทศชาติจะสามารถขับเคลื่อนก้าวหน้าไปได้กว้างไกลแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับประชากรจะมีความรู้และมีการศึกษามากน้อยเพียงใด และถึงแม้ว่า “มหาวิทยาลัยนอร์ท – เชียงใหม่” จะเป็นเพียงมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดย่อมที่ตั้งอยู่ในแถบภาคเหนือ แต่ดูเหมือนว่าสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ดูแลหยิบยื่นมอบความรัก ความอบอุ่น และความรู้ให้แก่ลูกศิษย์แบบคุณพ่อ คุณแม่ดูแลลูกๆ อาจารย์ทำแม้กระทั่งโทรหาถ้าหากว่าลูกศิษย์ขาดเรียน แถมยังคอยถามไถ่ให้กำลังใจจนบรรดาลูกศิษย์นักศึกษาสามารถก้าวข้ามฝั่งชีวิตสำเร็จการศึกษาละครับ

เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ :  จากเด็กกำพร้าก้าวสู่ นักวิศวะผู้ยิ่งใหญ่และสู่ทำเนียบขาว สยามรัฐ (siamrath.co.th)

Cr. ดร.วิวัฒน์  เศรษฐช่วย  ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่


ผู้ประกาศข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มนช. ประกาศข่าวเมื่อ : 20 มีนาคม 2566
| |